สาระความรู้

การตรวจสุขภาพเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย

คำนิยามของการมีสุขภาพดีนั้น  คือการมีสุขภาวะทั้งร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์แข็งแรง สามารถมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัวและคนรอบข้างได้  เพื่อสุขภาพที่ดีนั้นหลายคนมักมุ่งเน้นไปที่การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์, เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาล ไขมันและโซเดียมสูง, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ, นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ, เลี่ยงการสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดูแลตัวเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพแต่อาจไม่เพียงพอที่เราจะมั่นใจว่าเราจะมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงตลอดไป  เพราะในปัจจุบันความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยนั้นมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยมลพิษ ทั้งฝุ่นควัน PM 2.5, สารเคมีตกค้างในอาหาร และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ล้วนส่งผลให้เราเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงการใช้ชีวิตที่เคร่งเครียด  การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ  ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases; NCDs) อย่างโรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง นั้นเอง

 

ทำให้ปัจจุบันการแพทย์จึงพยายามศึกษาวิจัยทั้งเพื่อการรักษาและการป้องกันก่อนการเจ็บป่วยหรือที่เรียกว่า Preventive medicine ให้เข้ามามีบทบาทช่วยชะลอและป้องกันการเกิดโรคต่างๆโดยคัดกรองความเสี่ยงได้ล่วงหน้าได้ไกลมากขึ้นกว่าการตรวจสุขภาพทั่วไปอย่างที่เคยมีในอดีตหรือที่เรียกว่าการตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Health Check-up) เพราะสามารถวิเคราะห์ลงไปได้ลึกถึงระดับพันธุกรรม เพื่อให้แพทย์สามารถวางแผนการดูแลและป้องกันโรคที่เหมาะสมเฉพาะบุคคลมากยิ่งขึ้น ต่างจากการรักษาหลังจากที่เจ็บป่วยแล้วหรือสูตรการรักษาเหมือนกันหมดกับผู้ป่วยทุกราย (one size fits all) ที่อาจไม่สามารถตอบโจทย์ในเรื่องสุขภาพได้อีกต่อไป

 

ตัวอย่างการตรวจสุขภาพเชิงป้องกันในปัจจุบันมีดังต่อไปนี้

 

1.       การวิเคราะห์พันธุกรรม (Genetic Analysis)

ในร่างกายของมนุษย์ทุกคนประกอบไปด้วยเซลล์หลายล้านเซลล์ โดยในแต่ละเซลล์จะมีแท่งโครโมโซมซึ่งก็คือสายพันธุกรรม (DNA) ที่ขดพันกันเป็นเกลียวอยู่ ในสายพันธุกรรมนั้นมีการเรียงลำดับกรดอะมิโนเรียกว่ายีน ซึ่งมีหน้าที่ในการถ่ายทอดพันธุกรรมจากบิดามารดาสู่ตัวเรา เปรียบเสมือนพิมพ์เขียวของร่างกายในการกำหนดความแตกต่างเฉพาะบุคคล ซึ่งความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือแม้กระทั่งโรคอ้วน โรคเบาหวานก็สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ หากเราได้ทราบความเสี่ยงของการเกิดโรคเหล่านี้ได้ล่วงหน้า จะช่วยทำให้เราสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้

 

2.       อายุของร่างกาย (Telomere Length)

เทโลเมียร์ (Telomere) เป็นส่วนปลายสุดของโครโมโซม ทำหน้าที่คล้ายกับหัวพลาสติกที่อยู่ปลายเชือกผูกรองเท้า ป้องกันไม่ให้เกิดการร่นรุ่ยของโครโมโซม สามารถใช้บ่งชี้อายุของเซลล์ตามชีวภาพ (Biological age) และบอกภาวะเสื่อมของเซลล์ (Degenerative status) ที่เกิดขึ้นก่อนวัย เพราะแม้บางคนอายุน้อย แต่กลับมีอายุเซลล์เท่ากับคนอายุมากได้ ซึ่งการรู้ความยาวของเทโลเมียร์จะบอกได้ว่าร่างกายมีความเสื่อมเกินกว่าคนปกติหรือไม่ ถ้าหากคุณมีความยาวเทโลเมียร์ที่สั้น คุณจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายมากกว่าคนปกติ และอาจทำให้มีอายุขัยสั้นมากกว่าด้วย ประโยชน์ของการทราบความยาวของเทโลเมียร์เพื่อให้เราทราบความเสี่ยงและรีบกลับมาดูแลตัวเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีสุขภาพดีและมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น

 

 

 

3.       ตรวจภูมิคุ้มกันร่างกาย (NK Cell activity)

การตรวจความสามารถในการทำงานของ NK cell (Natural Killer cell) หรือเซลล์เพชฌฆาต เพื่อประเมินประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อเซลล์มะเร็งและเชื้อไวรัส เพราะเมื่อระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ เกิดภาวะภูมิคุ้มกันต่ำหรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่งผลให้เชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆ เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น ทำให้เราเจ็บป่วยแต่ละครั้งเป็นระยะเวลานานๆ หรือมีอาการหนักมากกว่าผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ หรืออาจทำให้เป็นโรค เช่น โรคเริม, โรคงูสวัดสำหรับค่าที่สูงกว่าค่าอ้างอิง บ่งชี้ว่า เซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพที่ดี การตรวจนี้ยังสามารถบ่งชี้ได้ว่าร่างกายมีการติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงที่จะพัฒนาเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น SLE หรือ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น

 

หากพบว่าร่างกายมีระดับการทำงานของ NK Cell ที่ต่ำกว่าปกติ แพทย์สามารถเสริมสร้างภูมิต้านทานได้ด้วยการปรับสมดุลย์ร่างกายให้คนไข้ ซึ่งมีหลายวิธี เช่นการ ให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการให้วิตามินสารอาหารต่างๆ เช่น การเสริมสารสกัดถั่งเช่าผสมวิตามินซี และสารสกัดเห็ดหลากชนิดที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวและระบบภูมิคุ้มกัน

 

4.       ตรวจวัดวิเคราะห์เชิงลึก

ในปัจจุบันที่เราใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางปัจจัยก่อเกิดอนุมูลอิสระ  ส่งผลให้ร่างกายเราสึกหรอเร็วขึ้น การตรวจสุขภาพเชิงลึกเพื่อวัดระดับวิตามิน แร่ธาตุและฮอร์โมนในร่างกายจึงมีส่วนสำคัญในการทำงานของร่างกายที่เป็นปกติ การตรวจวัดระดับสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งมีส่วนช่วยลดการอักเสบในร่างกายและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้าย การตรวจวิเคราะห์เชิงลึกทำให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถใช้ฮอร์โมนทดแทนที่สกัดจากธรรมชาติ เติมเต็มสารอาหารด้วยอาหารเสริมเฉพาะบุคคล (Customized Supplements) เพราะวิตามินที่ดีที่สุดในโลกคือ วิตามินที่กินจากผลเลือดของเรา เมื่อสารอาหารต่างๆอยู่ในระดับที่สมดุล  อวัยวะต่างๆ ทำงานได้อย่างปกติ ทำให้เรามีสุขภาพที่ดีจากภายในสู่ภายนอก

 

5.       ตรวจสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด

ในปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก เป็นผลจากการใช้ชีวิตที่ไม่ระมัดระวัง การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียดเรื้อรัง  การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์  และขาดการเคลื่อนไหวร่างกาย ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มสูงขึ้น ความดันโลหิตสูง ระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดสูง การตรวจเลือดเพื่อวัดระดับไขมันและน้ำตาลช่วยให้เราเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมขึ้น การตรวจระดับฮอร์โมนเครียด (Cortisol) และฮอร์โมนต้านความเครียด (Dehydroepiandrosterone; DHEA) เพราะร่างกายของคุณอาจเกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว การแสกนร่างกายเพื่อดูไขมันสะสมตามอวัยวะต่างๆ ด้วยวิธี DEXA (Dual energy x-ray absorptiometry) และ MRI (Magnetic resonance imaging ) เพราะการชั่งน้ำหนักเพียงอย่างเดียวไม่สามารถชี้ได้ว่าคุณมีภาวะอ้วนซึ่งเป็นความเสี่ยงของการเกิดโรคหรือไม่ นอกจากนี้การตรวจสุขภาพฟันเพื่อหาเชื้อสเตรปโตคอคคัส (Streptococcus) ซึ่งเป็นสาเหตุของการอักเสบและทำลายเนื้อเยื่อบางส่วนของหัวใจ การตรวจเชิงป้องกันช่วยให้เราทราบความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต

 

6.       ตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง (Food Intolerance)

 

ภาวะแพ้อาหารแฝง หรือ Food Intolerance จะแตกต่างกับอาการแพ้อาหารฉับพลัน (Food Allergy) ตรงที่อาการจะไม่เกิดขึ้นในทันที แต่จะมีอาการหลังจากรับประทานอาหารไปแล้วอย่างน้อย 2-3 วัน โดยภาวะแพ้อาหารแฝงอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว อ่อนเพลียเรื้อรัง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ระบบการย่อยอาหารและการดูดซึมอาหารแปรปรวน  น้ำหนักขึ้นได้ง่าย มีปัญหาในการควบคุมน้ำหนัก มีอาการเหนื่อย เพลีย ปวดศีรษะไมเกรน เป็นสิว มีผื่นคันตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ  ฯลฯ อันจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวกลายเป็นโรคเรื้อรังบางชนิดได้ เช่น เบาหวาน กระดูกพรุน โลหิตจาง  หลอดเลือดหัวใจ โรคภูมิแพ้ตัวเอง เป็นต้น ภาวะแพ้อาหารแฝงดังกล่าวถือเป็นภาวะที่น่ากังวล เพราะปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ที่มีอาการภาวะแพ้อาหารแฝงนั้น อยู่มากกว่า 20% และด้วยการสังเกตอาการเพียงอย่างเดียวนั้นอาจไม่สามารถช่วยในการวินิจฉัยภาวะแพ้อาหารแฝงได้ จึงต้องอาศัยการตรวจผลเลือดจากห้องปฏิบัติการนั้นเอง

 

 การตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงจึงเป็นการตรวจปฏิกิริยาของร่างกายจาก Imunoglobulin G4 (IgG4) ต่ออาหาร 232 ชนิด ผลที่แสดงออกมานั้นทำให้เราสามารถนำไปปรับการรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับร่างกาย เพื่อลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยที่มีสาเหตุมาจากอาหารได้นั้นเอง

 

การตรวจสุขภาพเชิงป้องกันภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ช่วยให้เราหันมาใส่ใจดูแลตัวเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งการรับประทานอาหาร ออกกำลังกาย การฝึกทำสมาธิ ให้สอดคล้องกับร่างกายของเรา              ไม่เพียงแต่จะป้องกันการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้น แต่การตรวจสุขภาพเหล่านี้ยังช่วยชะลอวัยเพื่อให้เรามีชีวิตที่ยืนยาวสมบูรณ์แข็งแรงได้